โรงเรียนพุทไธสง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2493 โดยอาศัยศาลาการเปรียญวัดมณีจันทร์ หมู่ที่ 1 ตำบลมะเฟือง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นสถานที่เรียนชั่วคราว เปิดทำการสอนปีแรกเฉพาะมัธยมศึกษา ปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 จำนวน 1 ห้องเรียน นักเรียน 45 มีครู 2 คน คือ 1. นายจำรูญ มณีวรรณ เป็นครูใหญ่ 2. นายเกษม เฮงสวัสดิ์ ครูปฏิบัติการสอน
ภาพศาลาการเปรียญวัดมณีจันทร์
ปลายปี พ.ศ. 2493 ได้บรรจุครูเพิ่มอีก 1 คน คือ นายวิโรจน์ อาจจำนงค์ ปลายปี พ.ศ. 2494 ทางราชการได้มอบพื้นที่ทางโรงเรียนราษฎร์วิศิษฎ์วิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ให้เป็นสมบัติของโรงเรียน จึงได้ย้ายสถานที่การศึกษา ปัจจุบันเป็นคิวรถ พุทไธสง และได้ขยายห้องเรียนเพิ่มขึ้นอีกเป็น 4 ห้องเรียนปี พ.ศ. 2495 โรงเรียนได้ย้ายสถานศึกษามาปฏิบัติการเรียนการสอน ณ ที่ตั้งโรงเรียนอนุบาลพุทไธสง (โอภาสประชานุกูล) ซึ่งเดิมเป็นวัดร้าง โรงเรียนได้ขยายห้องเรียนเพิ่มขึ้นในปีการศึกษาต่อ ๆ มาตามลำดับ
ภาพโรงเรียนอนุบาลพุทไธสง (โอภาสประชานุกูล)
ภาพ ดร. ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสามัญศึกษาในสมัยนั้น
วันอังคาร ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2514 ดร. ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสามัญศึกษาในสมัยนั้นได้มาตรวจเยี่ยมโรงเรียนเห็นว่าบริเวณ โรงเรียนแห่งเก่าคับแคบ จึงให้หาที่แห่งใหม่เพื่อขยาย โรงเรียนในโอกาสต่อไป
นายบุญนาค เจริญศรี นายอำเภอ และนายจรูญ มณีวรรณ อาจารย์ใหญ่สมัยนั้น ได้นำอธิบดีกรมสามัญศึกษาไปเลือกที่แห่งใหม่อยู่ในเขตบ้านเตยซึ่งเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบัน ตั้งอยู่เลขที่ 3 หมู่ 4 บ้านเตย ตำบลพุทไธสง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินที่ทางอำเภอซื้อไว้เพื่อสร้างสนามกีฬาประชาชน มีเนื้อที่ 24 ไร่ 55 ตารางวา ที่ดินว่างเปล่า 2 ไร่ 2 งาน 68 ตารางวา รวมที่ดินสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 ที่โรงเรียนทำเรื่อง ขอใช้จากราชพัสดุ จังหวัดบุรีรัมย์ ประมาณ 8 ไร่เศษ คณะศิษย์เก่าร่วมบริจาคเงิน เพื่อซื้อที่ดินรวม 79 ไร่ 2 งาน 94 ตารางวา ต่อมาคณะครู บุคลากรได้บริจาคซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก 3 ไร่ 2 งาน 18 ตารางวา ปัจจุบันรวมพื้นที่ทั้งหมด 83 ไร่ 12 ตารางวา
ภาพป้ายโรงเรียนพุทไธสง เขตบ้านเตย
ทำเนียบผู้บริหาร
1. นายจำรูญ มณีวรรณ พ.ศ. 2493-2518 2. นายไสว กฤตเวทิณ พ.ศ. 2518-2519 3. นายเรืองศิลป์ สุริสุวลักษณ์ พ.ศ. 2520-2533 4. นายบรรลือ คุรุธรรมจารุ พ.ศ. 2533-2535 5. นายวิบูลย์ รุ่งอดุลย์พิศาล พ.ศ. 2535-2537 6. นายวิเชียร เจริญครบุรี พ.ศ. 2537-2540 7. นายฉัตรชัย ทีรฆวณิช พ.ศ. 2540-2543 8. นายวิชัย อำไธสง พ.ศ. 2543-2547 9. นายวิเชียร เจริญครบุรี พ.ศ. 2547-2551 ดำรงตำแหน่งวาระที่ 2 10. นายสุพจน์ สินสุวงศ์วัฒน์ พ.ศ. 2551-2559 11. นายประชัย พรสง่ากุล พ.ศ. 2559-2563 12. นายศักดิ์ ซารัมย์ พ.ศ. 2564-2565 13. นายภูวนาถ ยุพานวิทย์ พ.ศ. 2565-ปัจจุบัน
พระพุทธรูปประจำโรงเรียน เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร พระนามว่า “ พระพุทธรตนมาลา ”
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงเรียน ศาลหลวงพ่ออุดม ตราสัญลักษณ์โรงเรียน เป็นรูปเปลวเทียนอยู่บนมือประสานล้อมรอบด้วยเกลียวเชือก รอบนอก คือ กลีบบัว 9 กลีบ ข้อความข้างในเป็นชื่อของโรงเรียนและคำขวัญของโรงเรียน กลีบบัว 9 กลีบ หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า และสถานที่ตั้งโรงเรียนอยู่ริมสระบัว เกลียวเชือก หมายถึง ความสามัคคีกลมเกลียว มือประสาน หมายถึง การรวมพลังเพื่อสร้างสรรค์ เปลวเทียน หมายถึง แสงสว่างทางปัญญา
อักษรย่อโรงเรียน พ.ส.
สีประจำโรงเรียน สีม่วง – ขาว
ต้นไม้ประจำโรงเรียน ต้นอินทนิล
ปรัชญาของโรงเรียน สุขา สังฆัสสะ สามัคคี : ความสามัคคีนำมาซึ่งความสุข
คำขวัญประจำโรงเรียน ประพฤติดี มีวิชา สามัคคี มีวินัย
อัตลักษณ์ของโรงเรียน รักสะอาด มารยาทงาม
เอกลักษณ์ของโรงเรียน แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชน